
เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ใจสั่น วูบบ่อย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าโรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละโรคมีสาเหตุเกิดจากอะไร ลักษณะอาการเฉพาะและความผิดปกติที่สังเกตได้เป็นอย่างไร รวมถึงจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้
โรคหัวใจ คืออะไร ?
โรคหัวใจ (Heart Disease) สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือหนาตัวผิดปกติทางพันธุกรรม โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าหรือเร็ว โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณเยื่อบุหรือลิ้นหัวใจ เป็นต้น ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

มาดู 5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ หรือหนาตัวขึ้นจากการอุดตันของไขมัน หินปูนและเนื้อเยื่อที่เกิดจากการอักเสบในหลอดเลือด เป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบมากขึ้น ขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงหกล้ามเนื้อหัวใจลดน้อยลงและไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ผู้ที่มีอายุมาก สูบบุหรี่จัด มีภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และขาดการออกกำลังกาย มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงขึ้น
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เหนื่อยง่าย จุก แน่น เจ็บแน่นหน้าอก โดยมักเป็นขณะออกแรง เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงื่อออก ใจสั่น เป็นลม อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายได้
2. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากการกำเนิดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติบางตำแหน่งในหัวใจ หรือมีจุดที่ไฟฟ้าลัดวงจรเล็กๆ โดยสาเหตุมีทั้งจากความเสื่อมสภาพของโครงสร้างที่นำไฟฟ้าในหัวใจในผู้สูงอายุเอง ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนำไฟฟ้าบางอย่างทำให้เกิดไฟไฟ้าลัดวงจรในหัวใจ โรคบางชนิด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน และต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ภาวะกรรมพันธุ์
อาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้ามากแบบผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 40 ครั้ง/นาที ในขณะพักและตื่นนอน หรือเต้นเร็วผิดปกติจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำและอาจเป็นลมหมดสติ และขณะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 120 ครั้ง/นาทีแบบผิดจังหวะ หากเป็นเพียงเล็กน้อยจะเหนื่อยง่ายและหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากมีอาการวูบ เป็นลม หมดสติ มีอาการใจสั่นอย่างรุนแรงหรือเหนื่อยมากควรพบแพทย์โดยเร็ว
3. โรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว
สาเหตุโรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว เป็นได้ตั้งแต่ลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด จากโรคลิ้นหัวใจอักเสบรูห์มาติค ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ หรือหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
อาการโรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว เหนื่อยง่ายกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง คล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มีขาบวมทั้ง 2 ข้าง นอนราบไม่ได้ ต้องนอนศีรษะสูง มีท้องอืดบวม หรือมีวูบหน้ามืดหมดสติ จากลิ้นหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
4. โรคหัวใจล้มเหลว
สาเหตุโรคหัวใจล้มเหลว มีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยสาเหตุเฉียบพลันมักเกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน มีหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรง ส่วนกรณีแบบเรื้อรังนั้น เป็นได้จากเส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วที่ไม่ได้รับการรักษา การได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิด เช่น ดื่มสุราต่อเนื่องในปริมาณมาก หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น
อาการโรคหัวใจล้มเหลว เหนื่อยง่ายตอนออกแรง ขาบวม นอนราบไม่ได้ มีตื่นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืน อาจตรวจพบหัวใจโตและน้ำท่วมปอดร่วมด้วย
5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สาเหตุโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) โดยสูติแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารก ซึ่งความผิดปกตินี้เกิดจากการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากการมีรูรั่วที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว เป็นต้น
อาการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ในเด็กเล็ก อาการที่สำคัญ คือ เหงื่อออกมากบริเวณศีรษะโดยอากาศไม่ร้อน ดูดนมนานกว่าปกติ ตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น เด็กโตมักมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ เช่น หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือต้องนอนศีรษะสูง เขียวบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตาหรือใต้เล็บ ใจสั่น เจ็บหน้าอก จะเป็นลม
ขอบคุณข้อมูล : VIMUT HOSPITAL
อ่านบทความและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากเรา : RANKING5