

อาการหลงลืมบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคสมองเสื่อมได้ หากเราละเลยหรือไม่ดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น แต่สัญญาณใดที่บ่งบอกอาการโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ วันนี้หมอมาร่วมคลายข้อสงสัยเหล่านี้ให้กระจ่างขึ้น
รู้จักโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะความเสื่อมถอยของสมอง ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงทั้งด้านความจำ การคิดและการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปมักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดในวัยอื่นได้ในบางกรณี
สัญญาณที่ 1 ขี้ลืมบ่อย เริ่มพูดซ้ำหรือใช้คำพูดไม่เหมาะสม
อาการหลงลืมเริ่มเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มตั้งแต่การลืมชื่อ วันหรือเหตุการณ์สำคัญในชีวิต บางรายจะเริ่มถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ เมื่อจะเริ่มพูดก็เริ่มหยุดชะงักไปเพราะนึกคำไม่ออก แม้จะเป็นชื่อเรียกสิ่งของที่คุ้นเคย เช่น เผลอเรียกปากกาเป็นดินสอ เนื่องจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่กักเก็บความทรงจำระยะสั้นเริ่มเสื่อมสภาพ
สัญญาณที่ 2 หลงลืมทางกลับบ้าน
หากก้าวเข้าสู่ระยะ Mild Alzimer’s ผู้ป่วยจะเริ่มสับสนเรื่องสถานที่ เวลา และเริ่มทำงานที่คุ้นเคยให้เสร็จได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปสถานที่คุ้นเคย การจัดรายการซื้อขาย หรือการจำกฎกติกาเกมแบบง่าย บางครั้งอาจเป็นการเริ่มวางของผิดที่ ไม่ได้กลับไปหาซ้ำ
สัญญาณที่ 3 สูญเสียความสนใจกิจกรรมที่เคยชอบ
เมื่ออาการเริ่มเข้าสู่ระยะกลาง ผู้ป่วยเริ่มอ่านหนังสือได้ลำบาก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องวัตถุทั้งขณะไกลและใกล้ไม่ชัด บางครั้งก็เป็นเรื่องสีและการคำนวณ ผู้ป่วยจะเริ่มขาดสมาธิและเริ่มทำกิจกรรมบางสิ่งบางอย่างนานเกินกว่าที่เคยเป็น นอกจากนั้นยังมีการควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย
สัญญาณที่ 4 มีปัญหาด้านการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน
ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถวางแผนหรืออาจแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างไม่เหมาะสม เช่น ลืมวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ หรือจัดการงานที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้
สัญญาณที่ 5 ‘เห็น’ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร
ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียการระลึกรู้ เขามองเห็น แต่ไม่รู้ว่าเขาคือคนใกล้ชิด และเนื่องจากสมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นทำงานลดลง ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเห็นภาพหลอน เช่น เห็นคนหรือวัตถุที่ไม่มีอยู่จริง
หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการลืมชื่อคนที่สนิท ไม่สามารถบอกวันเดือนปี สถานที่อยู่และเริ่มหลงทางกลับบ้านก็อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ควรเข้าพบแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจเบื้องต้นและการตรวจเชิงลึกด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงเพื่อวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ขอบคุณข้อมูล : RAM HOSPITAL
อ่านบทความและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากเรา : RANKING5